Wednesday, November 16, 2011

พลิกประวัติศาสตร์น้ำท่วม 2485 : ฉันเห็นอุทกภัย (ตอนที่ 1)

หนังสือพิมพ์รายวันนิกร ปีที่ 5 ฉบับที่ 2612 วันอังคารที่ 29 กันยายน 2485 ที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุอุทกภัยปี พ.ศ.2485 ไว้โดยตีพิมพ์ข้อเขียนเรื่อง “ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง” ของ “สามัคคีชัย” ไว้ในหน้าที่ 1, 2 และ 8





ขออนุญาตเก็บบทความจากเว็บผู้จัดการเอาไว้เผื่อไว้ดูอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลาน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง..


ในหนึ่งชั่วอายุคน เชื่อได้ว่าคนทุกคนคงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมของชีวิต ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุการณ์เปลี่ยนผันทางสังคมหรือความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติซึ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงกันหลายครั้งหลายหน ......
       
       ดังเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลางของประเทศไทยในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้คนไทยภาคกลางและคนกรุงเทพทั้งวัยหนุ่มวัยสาว จนถึงผู้หลักผู้ใหญ่วัยเกษียณอายุจะเคยประสบพบเจอกับเหตุอุทกภัยมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น เหตุอุทกภัยใหญ่ปี พ.ศ.2526 ซึ่งข้อมูลจากสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานครได้มีการจดบันทึกไว้ว่า น้ำท่วมในปีดังกล่าวมีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือ และภาคกลางในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม หรือ เหตุอุทกภัยใหญ่อีกครั้งใน 12 ปีต่อมา คือ เหตุอุทกภัย พ.ศ.2538 ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ มีฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ประกอบกับฝนตกหนัก ในช่วงเดือนสิงหาคม- ตุลาคม เนื่องจากพายุ "โอลิส" ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูง โดยวัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2538 มีค่าระดับสูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้น้ำล้นคันป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำในระดับสูงถึง 50-100 เซนติเมตร
  
       อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์มหาอุทกภัย ณ พุทธศักราช 2554 นี้ ว่ากันว่าถือเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 70 ปี นับตั้งแต่เหตุอุทกภัยใหญ่ในปี พ.ศ.2485 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ถึงปัจจุบันอย่าว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราจะจดจำเรื่องราวดังกล่าวมิได้ อาจเพราะเกิดไม่ทันหรือยังเด็กอยู่ แม้กระทั่งคนรุ่นปู่ย่าตายายที่ประสบเหตุการณ์ในตอนนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงลืมเลือนเหตุการณ์ไปหมดแล้ว
       
       ด้วยเหตุนี้ทีมข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงขออาสาขุดค้นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุอุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย พ.ศ.2485 มาให้พวกเราคนรุ่นหลังได้รับทราบ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และที่สำคัญคือ เตือนใจพวกเราว่าดินแดนที่พวกเราได้อยู่ได้อาศัยแห่งนี้เคยมีเหตุการณ์ภัยพิบัติสำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง
       
       กล่าวถึงภูมิหลังโดยคร่าวของประเทศไทยในปี พ.ศ.2485 (หรือ ค.ศ.1942) เวลานั้นประเทศไทยถูกดึงเข้าสู่วังวนของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2482 (ค.ศ.1939) และสถานการณ์ทางเอเชียซึ่งญี่ปุ่นเริ่มใช้นโยบายชาตินิยมและก่อสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นที่จีนและคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทยขณะนั้นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ใช้รัฐบาลทหาร และสื่อต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศในการทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และปลูกฝังลัทธิชาตินิยมอย่างเข้มข้นให้กับพลเมือง

       
       ระหว่างที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวายกับสงครามนี้เอง ในช่วงปลายปี พ.ศ.2485 ก็เกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ที่กินเวลาราว 3 เดือน ในช่วงเดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2485 โดยหลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่บอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีดังกล่าวก็คือ ข้อเขียนเรื่อง “ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง” ของ “สามัคคีชัย” ซึ่งในเวลานั้นทราบกันดีว่า “สามัคคีชัย” ก็คือ ทัศนะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
       
       ข้อเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของ “สามัคคีชัย” ชิ้นนี้ ถูกนำมาอ่านออกกระจายเสียงทางกรมโฆษณาการ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2485 และถูกตีพิมพ์ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์นิกร หนังสือพิมพ์รายวันที่ถือเป็นกระบอกเสียงสำคัญของรัฐ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2612 วันอังคารที่ 29 กันยายน 2485
       
        สำหรับเนื้อหาของข้อเขียนดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
       
       
ฉันเห็นอุทกภัยสองครั้ง ของ “สามัคคีชัย”

       
       เวลานี้ น้ำท่วมหลายจังหวัด ฉันจึงถือโอกาสออกไปดูน้ำที่ทุ่งรังสิต โดยรถยนต์ตามถนนประชาธิปัตย์ เมื่อเริ่มออกเดินทาง ฉันคิดจะไปให้ถึงสระบุรี หรือไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ แต่ต้องไปหยุดและกลับบ้านเมื่อถึงเลยสะพานข้ามคลองรังสิตประมาณ 100 เมตร ตรงนั้นน้ำท่วมถนน น้ำไหลข้ามถนนจากตะวันออกไปลงทุ่งตะวันตก ตาม 2 ข้างถนนประชาธิปัตย์ที่ฉันผ่านไปเห็นแต่น้ำกับฟ้า มีต้นไผ่ต้นไม้เป็นเกาะห่างๆ กัน บางแห่งเป็นบุญของเจ้าของนา ยังแลเห็นต้นข้าวพ้นน้ำเขียวเป็นหย่อมๆ บ้านเรือนชาวนา บางแห่งท่วมถึงครึ่งหลัง ควาย แรงสำคัญช่วยชาวนายืนในน้ำเป็นกลุ่ม บางฝูงควายควายเหล่านั้นยืนกลางทะเล บางแห่งก็พากันมาอาศัยบนถนน โดยเฉพาะทุ่งรังสิต แลไม่เห็นคันข้าวเลยจนจดขอบฟ้า ดูเหมือนทะเลเวลามีคลื่นน้อยๆ ที่กองทัพอากาศดอนเมืองคนยืนในรั้วของกองทัพอากาศ เทียบกับระดับน้ำข้างนอกแค่ไหล่
       
       วันนี้ฉันไปอีก น้ำท่วมถนนตรงเลี้ยวเข้าสถานีดอนเมืองแล้ว เลยต้องกลับแค่นั้น แวะเยี่ยมกองทัพอากาศของเรา เจ้าหน้าที่กองทัพอากาศนับแต่ผู้บัญชาการทหารอากาศลงไปกำลังวุ่นเรื่องทำทำนบกันน้ำ ท่านกำลังรบกับอุทกภัยกันอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ทุกขภัยก็อยู่เฉพาะหน้าทุกเวลา ท่านผู้บัญชาการทหารอากาศท่านใจดี เห็นอกราษฎร ท่านอนุญาตให้ราษฎรเอาควายไถนาไปเลี้ยงในบริเวณกองทัพอากาศเพราะน้ำไม่ท่วม และมีหญ้าเป็นอาหารด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังเตรียมปลูกบ้านให้ราษฎรหนีภัยจากน้ำท่วมอีกด้วย
       
       สาธุ! ขอให้ท่านมีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะท่านเห็นใจคนจน และจนอย่างชาวนาผู้เป็นกำลังสันหลังของชาติด้วย พี่น้องเหล่านี้ บ้านไม่มีอยู่ ข้าวจะไม่มีกิน เงินก็ไม่ใคร่มีเสียด้วย ไปไหนต้องว่ายน้ำ เพราะเรือไม่มี นี่แหละที่ฉันเห็นเพียงส่วนน้อย
       
       ภาพของบ้านเมืองและผู้คนที่ต้องอุทกภัยเช่นนี้ ทำให้ฉันนึกถึงเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.2460 เวลานั้นฉันมีอายุ 20 ปี ในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระมงกุฎเกล้า พระมหาธีรราชเจ้า ปีนั้นมีอุทกภัยอย่างคราวนี้ ฉันอยู่ที่ลพบุรี ทุ่งนาในจังหวัดนั้นกลายเป็นทะเล มีคลื่นน้อยๆ เหมือนกัน ทางรถไฟจมน้ำหมด ผู้คนต้องหนีน้ำกันไปอยู่ตามตีนเขาก็มี อยู่บนทางรถไฟก็มี สุดแต่มีดอนน้ำไม่ท่วมที่ไหน ที่นั่นเป็นสวรรค์ของชาวนา กินในน้ำ นอนแช่น้ำ เป็นของผจญภัยธรรมดา พอสิ้นภัยจากน้ำท่วม ก็พบภัยข้าวของแพง อดข้าวก็มี เพราะข้ามีราคากระสอบละ 40-50 บาท ซ้ำร้ายพอถึงต้นฤดูหนาวไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดใหญ่ ผู้คนตายเป็นจำนวนไม่น้อย ฉันกับเมียก็เจ็บด้วยถึงเพ้อ นึกว่าไม่รอด แต่หัวยังแข็งอยู่ เลยทนมาได้พบอุทกภัยครั้งที่ 2 นี่อีก มีผู้กล่าวว่า การสงครามก็ดี อุทกภัยก็ดี โรคภัยก็ดี พระเจ้าท่านสาปไว้ ต้องให้มาล้างผลาญมนุษย์ทุกรอบ 20-25 ปี ทางทหารกล่าวในหลักวิชายุทธศาสตร์ว่า การสงครามเป็นระเบียบของโลก ต้องมีเสมอตามฤดูกาลของมัน
       
       ท่านผู้ฟังทั้งหลาย บัดนี้เราพบทุกขภัยที่ไม่ได้ไปรบอย่างทหาร เช่น ชาวกรุงเทพฯ เป็นต้น ก็พบแล้ว ต้องวิ่งลงหลุมหลบภัย เมื่อได้ยินเสียงหวอ ซึ่งเสียงนี้ทุกท่านจำได้และไม่ชอบ เพราะฟังแล้วทำให้ใจเย็นและตัวเย็นตามมาด้วย อุทกภัยก็กำลังมาแล้ว กำลังสู้กันอยู่ตัวเปียกปอนชุ่มไปหมด ยังเหลือที่เคยมีมาคราวก่อน เมื่อ พ.ศ.2460 ก็ข้าวราคากระสอบละ 40-50 บาท กับโรคภัยระบาดไปทั่ว
       
        ฉันเขียนถึงเพียงนี้ ทำให้ฉันเหนื่อยเต็มที่เพราะชาติของเราต้องสู้ และจะต้องสู้ภัยมากมายเหลือเกิน ไม่รู้จักหมดจักสิ้น ฉันสมเพช สงสารพี่น้องชาวนาเสียเหลือเกินที่ต้องกินในน้ำ นอนในน้ำ ข้าวของเสียหาย แต่เมื่อมองดูทุ่งน้ำกำลังขึ้น กำลังไหล ฉันก็ได้แต่บวงสรวงพระผู้เป็นเจ้าของโลกมนุษย์ ได้โปรดมนุษย์ไทยที่ไม่ได้ทำผิดอะไรแก่ใครเลย มีแต่รักสงบ รักอยู่ในศีลในธรรม รักเพื่อสร้างชาติของไทยเท่านั้น ลงโทษแต่พอควรเถิด

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2485 และเจ้าของความเห็นในนาม “สามัคคีชัย”
     
        เมื่อกลับบ้านฉันพบในหนังสือพิมพ์ว่ารัฐมนตรีหลายท่านแยกย้ายกันไปตรวจราชการ ทำให้ฉันโล่งใจเพราะเป็นของแน่นอน ท่านรัฐมนตรีเหล่านั้นคงจะได้ตกลงกันช่วยราษฎรไทยในการแก้อุทกภัยแน่นอน เราปล่อยให้งานของท่านผ่านไป เราเชื่อในความสามารถของรัฐบาลนี้ คงจะแก้ไขอุทกภัยคราวนี้ให้หนักเป็นเบา ถึงคราวอดก็คงมีกินเป็นแน่นอน
     
        บัดนี้ฉันอยากแสดงความเห็นของฉันส่วนตัวว่า ในยามอุทกภัยนี้เราควรสู้และเตรียมสู้อย่างใดจึงจะให้ถึงที่ตายก็ไม่ตาย หรือหนักเป็นเบาลงได้ ฉันไปเห็นตัวอย่างชาวนาเองเมื่อคืนนี้ที่ดอนเมือง พี่น้องชาวนาเหล่านั้นได้นำควายมาเลี้ยงรวมกันที่วงเวียนดอนเมือง มีคนเฝ้าเล็กน้อยแต่มีควายมาก ฉันถามได้ความว่า รวมกันเลี้ยง ผลัดกันเข้าเวร นี่ก็ความสามัคคี ทุกข์ด้วยกัน สุขด้วยกันนั่นเอง จากตัวอย่างพี่น้องชาวนาจำนวนน้อยนี้ฉันจึงเห็นว่าถ้าราษฎรที่ต้องอุทกภัยเวลานี้ได้ช่วยกันเป็นเวรแล้วก็จะทำให้เราดูแลบ้านช่องข้าวของได้ไม่ต้องทิ้งกันหมด ส่วนหนึ่งเฝ้าข้าวของวัวควาย ที่ต้องจำเป็นย้ายไปไว้ที่ดอน อีกส่วนหนึ่งปรับปรุงบ้านช่องให้พ้นน้ำ อย่างไรก็ดี เราเห็นได้ชัดว่า ถ้าราษฎรทุกครอบครัวได้ขุดดินทำที่ปลูกบ้านให้สูงไว้ก่อน ซึ่งฉันเคยได้ทราบว่าทางกระทรวงมหาดไทยได้เคยแนะนำชักชวนมานานแล้ว ราษฎรก็ไม่ต้องขนข้าวของวัวควาย ย้ายไปหาที่ดอนน้ำไม่ท่วม ไกลบ้านเดิมเลย ฉันหวังและขอเสนอให้ทางรัฐบาลออกกฎหมายบังคับให้ราษฎรขุดดินทำที่ปลูกบ้านให้สูงพ้นน้ำท่วมในกาลข้างหน้าก็จะดีไม่น้อย พ้นอุทกภัยในคราวที่ 3 ข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นอายุยุวชนบัดนี้จะได้พบเห็นก็ได้

       
        ฉันพูดมาเพียงนี้เป็นน้ำท่วมทุ่งยังไม่ได้เรื่องอะไร อยากพูดมากกว่านี้ แต่นึกไปนึกมาต้องหยุดพูด เพราะเชื่อว่ารัฐบาลท่านคงทำแล้ว ดังในเรื่องต่อไปนี้
       
       1.ช่วยย้ายผู้อยู่ในน้ำขึ้นบก
       2.ตั้งงบประมาณช่วยหาอาหารและเครื่องแต่งกายให้ราษฎรที่ถูกน้ำท่วม และหวังว่า คงจะได้บอกบุญแก่พี่น้องที่ไม่ต้องสู้กับอุทกภัยตามศรัทธา
       3.เตรียมซื้อข้าวตุนไว้จำหน่ายจ่ายแจกและทำพันธุ์ตามฐานะของผู้ต้องอุทกภัย และกักข้าวไม่ส่งไปนอกในเวลาอันควร
       4.เมื่อน้ำลด เตรียมให้ราษฎรทำไร่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ตามแต่จะทำได้ สุดแต่ท้องถิ่น
       5.ให้รัฐมนตรีและอธิบดีทุกท่าน คิดช่วยราษฎรผู้ต้องอุทกภัยตามหน้าที่
       6.ให้ข้าหลวง นายอำเภอ คณะกรรมการจังหวัด อำเภอได้ช่วยราษฎรที่อยู่ในน้ำ ขึ้นบกและจัดการเรื่องอาหารการกินตลอดจนที่อยู่
       
        เหล่านี้เป็นต้น ถ้าท่านได้จัดการตามนี้แล้ว เชื่อว่าเราคงฝ่าฟันอุทกภัยไปได้ตลอดรอดฝั่ง


       
        ตามที่ฉันพูดมานี้ เป็นสิ่งเกี่ยวแก่ภัย ดูน่ากลัวก็มาก แต่เราก็มีหวังในทางดีอยู่ที่การช่วยของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไม่น้อยเหมือนกัน เราก็ไม่น่ากลัวไม่ใช่หรือ?
       
        ยิ่งกว่านั้น อุทกภัยคราวนี้มีเฉพาะผู้ที่อยู่ตามลำน้ำซึ่งมีต้นน้ำมาจากภาคเหนือเท่านั้น ส่วนทางภาคอีสาน ภาคใต้ของเรายังดี ไม่มีอุทกภัยอะไรเลยที่น่ากลัว นอกนั้นยังมีข่าวเบาใจว่า ทางลำปางน้ำลดลงประมาณ 1 ใน 8 แล้ว ทางพิษณุโลก พิจิตร น้ำก็ลดลงมากและกำลังลดลงเรื่อยๆ ทางนครสวรรค์น้ำก็ลดลงแล้ว ยังเหลือพวกเราที่อยู่ตั้งแต่ใต้นครสวรรค์ลงมา และในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีนเท่านั้นที่จะต้องพบกับอุทกภัย
       
        ฉันได้พูดมานี้ ทำนองเป็นเรื่องฟังเล่น หากท่านผู้ใดมีความคิด ความเห็น ช่วยกันสู้อุทกภัยฟันฝ่าให้ตลอดรอดฝั่งไปได้ ฉันหวังว่าจะเป็นที่ชอบใจของชาติเรา ในยามทุกข์ถึงอุทกภัยนี้เป็นอย่างยิ่ง
       
        แม้คำพูดของฉันมีผิดพลาดบกพร่อง ขอประทานอภัยด้วย สวัสดีจงมีแต่พี่น้องชาวไทยทั่วกัน
       
       
27 กันยายน 2485

       
       หมายเหตุ : ทีมข่าวได้ถอดความข้อเขียนข้างต้นโดยปรับภาษาไทยที่ใช้ในอดีต ให้ถูกต้องตามหลักการสะกดของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ฉบับ พ.ศ.2542
ที่มา: 
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000144734

No comments:

Post a Comment